วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

ค่ายบางกุ้ง (ตอนที่ ๓ ค่ายลูกเสือบางกุ้ง)



ค่ายลูกเสือบางกุ้ง

          ค่ายบางกุ้งที่สร้างมา ๒๐๐ ปีได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่เป็นค่ายลูกเสือบางกุ้ง  พระเจ้าตากสินมหาราชผู้เป็นยอดทหารเสือ ท่านประสูติปีขาล เมื่อค่ายนี้กลับเป็นค่ายลูกเสือ ก็นับเป็นมงคลนาม เพราะลูกเสือเหล่านี้ก็คือ ลูกทหารเสือ  ซึ่งสืบเนื่องมาจากพระเจ้าตากสินมหาราชนั่นเอง   
          ค่ายลูกเสือบางกุ้ง มีประวัติความเป็นมาอย่างไร สมควรจะเล่าประวัติไว้ให้คนได้ปรากฎ   จะได้มีหลักฐานประวัติที่แน่นอน  จึงขอเล่าประวัติไว้ต้ังแต่แรกสร้าง 
          จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นตั้งแต่ท่านขุนนิกรนรารักษ์(นกแก้ว พัวไพโรจน์)  อดีตผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ได้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาทให้สร้างตึกเรียนโรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย  ได้กำหนดให้มีพิธีมอบเงินแก่พณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๐ ในวันทำพิธีมอบเงินนี้ได้มีผู้มีเกียรติหลายท่านไปร่วมในพิธี ข้าพเจ้าก็ได้ไปด้วย ก่อนทำพิธีมอบเงิน ท่านขุนนิกรนรารักษ์ และคุณสุดใจ กรรณเลขาได้พบคุณอภัย จันทวิมล ปลัดกระทรวงศึกษา ท่านปลัดกระทรวงศึกษาได้ปรารภว่า จังหวัดอื่นๆ มีค่ายลูกเสือกันหมดแล้ว เหลือแต่จังหวัดสมุทรสงครามยังไม่มีค่ายลูกเสือ  ขอฝากให้ท่านขุนและนายอำเภอช่วยเป็นธุระหาที่ดินให้สักแห่ง   จะได้สร้างค่ายลูกเสือ ท่านขุนนิกรนรารักษ์  และท่านนายอำเภอก็รับปากมา
          วันที่๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๐ ท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการและคณะได้เดินทางมาสมุทรสงครามเพื่อดูสถานที่สร้างค่ายลูกเสือ  ข้าพเจ้าได้พาท่านไปกราบหลวงพ่อบ้านแหลม เยี่ยมโรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย และไปเยี่ยมท่านเจ้าคุณสังวรวิมล ที่วัดเจริญสุขาราม ซึ่งท่านปลัดกระทรวงคุ้นเคยนับถืออยู่   ท่านเจ้าคุณแนะนำว่ ควรจะสร้างที่วัดบางกุ้ง  เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ไว้ ท่านปลัดกระทรวงจึงกลับมาดูบริเวณที่ดินวัดบางกุ้งน้อย  ท่านปลัดกระทรวงชอบใจชัยภูมิแห่งนี้มาก  กล่าวว่า ดีที่สุดที่จังหวัดสมุทรสงครามมีอยู่  ท่านตกลงใจให้สร้างค่ายลูกเสือทีบริเวณค่ายบางกุ้งนี้  
          ครั้นถึงวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๑ คุณพัฒนพงศ์ ศุกรโยธิน ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสงครามได้เรียกประชุมศึกษาธิการอำเภอและครูใหญ่เพื่อดำเนินการเรื่องค่ายลูกเสือบางกุ้งต่อไป  และได้ไปดูสถานที่สร้างค่ายลูกเสือ  








          เมื่อไปที่วัดบางกุ้ง ข้าพเจ้าได้เดินดูรอบๆบริเวณ ก็เกิดความคิดย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีตว่า พระเจ้าตากสินมหาราชท่านเคยไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี แล้วยกทัพเรือเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาคืนได้   กลับมาตั้งกรุงธนบุรีขึ้นในปีพ.ศ.๒๓๑๑  ในปีนั้นพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพเรือเข้าตีพม่าที่ล้อมค่ายบางกุ้งไว้ได้ชัยชนะ   ระยะเวลาครบ ๒๐๐ ปีพอดี  ค่ายแห่งนี้ก็กลับฟื้นคืนชีพขึ้นเป็นค่ายลูกเสืออีกคร้ังหนึ่ง  ข้าพเจ้าเกิดความคิดว่าควรฟื้นฟูจิตใจคนให้ฟื้นขึ้นให้ระลึกย้อนหลังไปถึงประวัติศาสตร์ด้วยความภาคภูมิใจด้วย อะไรก็ไม่ปลุกใจให้คนรักชาติบ้านเมืองได้เท่าประวัติศาสตรื 
          เมื่อดูสถานที่แล้ว  ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปนมัสการท่านสมภารเยื้อนบนกุฎิ ท่านกล่าวว่าวัดบางกุ้งนี้ตกอับมานานเกือบจะถูกยุบเสียก็หลายครั้ง  ถึงไม่ถูกยุบก็ไม่มีใครรู้จักไม่มีใครสนใจ เมื่อสร้างค่ายลูกเสือขึ้นก็ดีแล้ว คนไปมาจะได้รู้จักวัดบางกุ้งบ้าง  ช่วยเขียนประวัติวัดบางกุ้งให้ด้วยคนเขาจะได้รู้จักวัดบางกุ้งบ้าง  คำพูดของท่านสมภารวัดบางกุ้งสะกิดใจข้าพเจ้าว่า การเขียนประวัติออกเผยแพร่นี้ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูประวัติศาสตร์ ฟื้นฟูจิตใจคนทั้งหลายได้เป็นอย่างดี  ควรจะทำไปพร้อมๆกันกับการสร้างค่ายลูกเสือแห่งนี้ด้วย ข้าพเจ้าจึงได้หาหลักฐานจากหนังสือเก่าๆที่มีอยู่  ได้ทราบเรื่องราวเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก  



          ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๑๑ นั้นเอง จังหวัดสมุทรสงครามได้รับหนังสือจากพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ประธานจัดงานฉลองวันพระราชสมภพครบ  ๒๐๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ว่าทางส่วนกลางอนุมัติงบประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท ให้ทางจังหวัดจัดงานฉลองขึ้นที่วัดอัมพวันเจติยาราม ให้เสนอโครงการจัดงานไปยังกระทรวงศึกษาธิการโดยด่วน  เพื่อจะได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ในหลวงทรงทราบ และบันทึกไว้ว่าควรมอบให้นายเทพ สุนทรศารทูล ศึกษาธิการอำเภออัมพวา เป็นผู้เขียนโครงการจัดงานเสนอจังหวัด  ข้าพเจ้าจึงรับหน้าที่เป็นผู้เขียนโครงการจัดงานฉลองครบ ๒๐๐ ปีแห่งวันพระราชสมภพของพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสนอจังหวัด  ที่จริงก็เป็นโอกาสอันงามของข้าพเจ้าด้วย  ทั้งนี้นอกจากข้าพเจ้าจะเสนอโครงการให้มีการแสดงนาฎศิลป์  บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒ ทุกเรื่องที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้  ข้าพเจ้ายังเสนอให้มีการแสดงตำนานกลางแจ้งเรื่อง ศึกค่ายบางกุ้ง ไว้ด้วย มีผู้ติงว่าเรื่องค่ายบางก้งไม่เกี่ยวกับรัชกาลที่ ๒  ข้าพเจ้าก็ยืนยันว่าเกี่ยว เพราะเป็นเรื่องที่เกิดในจังหวัดสมุทรสงครามในสมัยที่พระพุทธเลิศหล้านภาลัยประสูติได้ ๑ ปี และยังประทับอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงครามด้วย  ด้วยความที่อยากจะฟื้นฟูประวัติศาสตร์ตอนนี้มาก  ตำนานค่ายบางกุ้งนี้ ลูกเสือสมุทรสงครามเคยเอาไปแสดงรอบกองไฟที่กรุงเทพฯครั้งหนึ่ง เมื่อพ.ศ.๒๔๗๖  แต่ไม่เคยแสดงที่จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อถึงวันแสดงจริง การแสดงตำนานค่ายบางกุ้ง แสดงได้อย่างดี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชอบใจมาก ออกปากชม คนดูก็ชอบอกชอบใจกันมาก เป็นอันว่าการแสดงตำนานค่ายบางกุ้งเพื่อฟื้นฟูจิตใจให้ระลึกถึงเรื่องนี้ ก็ได้ผลสมใจ



(โปรดติดตามตอนต่อไป)
          

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

ค่ายบางกุ้ง (ตอนที่ ๒)




   


ค่ายบางกุ้ง
   ค่ายบางกุ้ง  จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นค่ายทหารเรือไทยที่มีชื่อปรากฎอยู่ในพงศาวดารชาติไทย  และชื่อเสียงจังหวัดสมุทรสงครามน้้นก็สืบเนื่องมากจากค่ายบางกุ้งนี้  จึงสมควรเล่าเรื่องค่ายบางกุ้งไว้ให้ปรากฎเพื่อเตือนความทรงจำของชาวสมุทรสงครามต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน
          เมื่อพ.ศ. ๒๓๑๐ ในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา  พม่ายกกองทัพมารุกรานบ้านเมืองไทย  สมัยน้ันพระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าให้เกณฑ์กองทัพพล ๒๕,๐๐๐ คน ยกเข้าตีเมืองไทยสองทาง  ให้มังมหานรธาเป็นแม่ทัพยกเข้าตีทางใต้  ให้เนเมียวสีหบดียกเข้ามาตีทางเหนือ  ให้ตีบรรจบกันที่กรุงศรีอยุธยาเป็นศึกขนาบสองด้าน  กองทัพของเนเมียวสีหบดีเข้าตีเมืองเชียงใหม่ เมืองกำแพงเพชรจนแตก แล้วต้ังค่ายมั่นต่อเรือสะสมเสบียงอาหารอยู่ ฝ่ายกองทัพมังมหานรธาเข้าตีเมืองมะริด เมืองตะนาวศรี ซึ่งเป็นของไทยแตกทั้งสองเมือง หุยจองกา เจ้าเมืองหนีไปอยู่ชุมพร พม่าก็ยกกองทัพติดตามมาตีเมืองชุมพรแตก  เผาเมืองชุมพรเสียแล้วยกกองทัพเข้ามาตีกองทัพของพระพิเรนทรเทพที่ตั้งค่ายอยู่ที่เมืองกาญจนบุรีแตกอีก  แล้วยกเข้ามาตีเมืองราชบุรี เพชรบุรีแตกทั้งสองเมือง  แล้วยกกองทัพกลับไปต้ังกองทัพต่อเรือสะสมเสบียงอาหารอยู่ที่ดงรังหนองขาวเมืองกาญจนบุรี
          พระเจ้าเอกทัศน์ทรงทราบข่าวศึก จึงโปรดให้เกณฑ์กองทัพออกต่อสู้  ให้กองทัพบกยกไปตั้งค่ายรับข้าศึกอยู่ที่ตำบลบางตำหรุ เมืองราชบุรีแห่งหนึ่ง ให้กองทัพเรือยกมาต้ังค่ายอยู่ที่ตำบลบางกุ้ง  เมืองสมุทรสงครามแห่งหนึ่ง  ให้พระยารัตนาธิเบศร์ยกทัพเมืองนครราชสีมามาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองธนบุรีแห่งหนึ่ง ให้พระยายมราชยกกองทัพมาตั้งค่ายอยู่ที่เมืองนนทบุรีแห่งหนึ่ง 
          คร้ันพ.ศ.๒๓๐๘ ทัพมังมหานรธาก็ยกทัพเรือเข้าตีค่ายทหารบกที่บางบำหรุแตก ยกเข้ามาตีค่ายทหารเรือที่ค่ายบางกุ้งแตก แล้วยกไปตีเมืองธนบุรี  พระยารัตนาธิเบศร์ก็ยกทัพหนี พม่าก็ยกทัพไปตีเมืองนนทบุรีแตกอีกแล้วเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ด้านหนึ่ง  กองทัพดของเนเมียวสีหบดีก็ยกทัพเข้ามาตีเมืองพิษณุโลก เมืองนครสวรรค์แตกแล้วยกทัพเรื่อยเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้อีกด้านหนึ่ง  จนกระทั่งกรงศรีอยุธยาแตกเมื่อพ.ศ.๒๓๑๐  แล้วตั้งให้นายทองอินทร์คนไทยทึ่จงรักภักดีอยู่กับพม่าเป็นสุกี้นายกองคุมกองทัพรักษากรุงศรีอยุธยาไว้ ต้ังให้นายบุญส่งคุมค่ายเมืองธนบุรีไว้  แล้วยกทัพหลวงกลับไป
          ในพ.ศ.๒๓๑๐ นั้นเอง พระเจ้าตากสินได้ถูกเรียกตัวเข้าช่วยราชการในกรุงศรีอยุธยา  แต่เมื่อเห็นแม่ทัพไทยฝีมือไม่เข้มแข็ง ทหารไทยแตกความสามัคคีกัน  เห็นจะสู้พม่าไม่ได้ จึงพาทหารประมาณ ๕๐๐ คนตีฝ่าออกไปจากกรุงศรีอยุธยาได้ พม่ายกติดตามไปก็ถูกพระเจ้าตากสินตีแตกกลับมาถึงสองครั้งสองครา  พระเจ้าตากสินได้ไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองชลบุรี พระยาจันทบุรีไม่ยอมอ่อนน้อม จึงยกทัพเข้าตีเมืองจันทบุรีแตกแล้วต้ังกองสะสมเสบียงอาหารต่อเรือรบที่เมืองจันทบุรี  เมื่อเห็นว่าได้มากเพียงพอแล้วก็ยกทัพเรือเข้ามาตีเมืองธนบุรีแตก  แล้วก๊กสุกี้นายกองที่รักษาอยู่ที่กรุงเก่าแตกพ่ายไป พระเจ้าตากสินกู้กรุงศรีอยุธยาคืนมาได้ แล้วยกมาตั้งกรุงธนบุรีขึ้นใหม่ในปีพ.ศ.๒๓๑๑  เมื่อตั้งกรุงธนบุรีขึ้นแล้วก็โปรดให้พวกคนจีนในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ราชบุรี กาญจนบุรี รวบรวมกำลังกันต้ังเป็นกองทัพรักษาค่ายบางกุ้งไว้  จึงเรียกว่า "ค่ายจีนบางกุ้ง" 
          ในปีพ.ศ.๒๓๑๑ ปีเดียวกัน พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าให้แมงกี้มารหยาเจ้าเมืองทวาย ยกกองทัพเข้ามาสืบข่าวศึกในเมืองไทยว่าสงบราบคาบดีหรือกำเริบขึ้นประการใด  แมงกี้มารหยาคุมพล ๒๐,๐๐๐ คนยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เมืองกาญจนบุรี  แล้วยกเข้ามาตั้งพักพลสะสมเสบียงอาหารอยู่ที่ไทรโยคเมืองกาญจนบุรี  แล้วส่งโปมังเป็นกองทัพคุมพล ๒,๐๐๐ คนเศษยกล่วงหน้ามาล้อมค่ายจีนบางกุ้งไว้  ทหารจึนค่ายบางกุ้งพยายามต่อสู้ แต่สู้ไม่ได้เพราะมีกำลังน้อยกว่า  นอกจากน้ันยังถูกกองทัพพม่าล้อมไว้ทำให้ขาดแคลนเสบียงอาหาร  ค่ายจีนบางกุ้งจวนจะแตกอยู่แล้ว  คณะกรรมการเมืองสมุทรสงครามสมัยน้ันจึงมีใบบอกไปยังกรุงธนบุรี 
          คร้ันพระเจ้าตากสินทรงทราบก็มีพระทัยยินดีประดุจได้ลาภอันวิเศษกว่าลาภทั้งปวง  ด้วยมีพระราชหฤทัยหนักหน่วงในอันทีจะปลุกใจคนไทยมิให้คร้ามเกรงพม่าอีกต่อไป  จึงโปรดให้จัดกองทัพเรือ ๒๐ ลำเศษ ให้มหามนตรี (บุญมา)  เป็นกองหน้า พระเจ้าตากสินเสด็จคุมทัพเรือมาด้วยตนเอง เสด็จโดยเรือพระที่นั่งสุวรรณมหาพิชัยนาวา เรือยาว ๑๑ วา ปากเรือกว้าง ๓ ศอก พลกรรเชียง ๒๘ คน เสด็จโดยด่วนมาในคืนน้ัน  พงศาวดารกล่าวว่า "ดุจพระยาชวันหงษ์  อันนำหน้าสุวรรณหงษ์ทั่้งปวง" คร้ันรุ่งเช้าก็ถึงเมืองสมุทรสงคราม  ทอดพระเนตรเห็นทัพเรือพม่าเข้าล้อมค่ายจีนบางกุ้งอยู่ก็โปรดสั่งให้ทหารเรือไทยเข้าโจมตีทันที ทหารไทยยิงปืนมณฑกนกสับคาบศิลา  รุกไล่ฆ่าฟันทหารพม่าแตกตื่นตกใจหนีพ่ายไปในเพลาเดียว  ทหารไทยฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายไปเป็นอันมาก ที่หลบหนีไปได้นั้นน้อยนัก เก็บเรือรบ เรือไล่ เครื่องศัตราวุธของพม่าได้เป็นจำนวนมาก  พระเกียรติยศของพระเจ้าตากสินก็ลือชาปราฎขจรขจายไปทุกทิศ เป็นที่คร้ามเกรงแก่ปัจจามิตร เปรียบดั่งพระยาไกรสรราชสีห์อันมีฤทธิ์เป็นที่คร้ามเกรงแก่หมู่สัตว์จตุบาททั้งปวง  นับแต่น้ันเป็นต้นมาก็ไม่ปรากฎว่ามีข้าศึกล่วงล้ำเข้ามาล่วงเกินเมืองสมุทรสงครามอีกเลย  เมืองสมุทรสงครามก็ร่มเย็นเป็นสุขสืบมาเป็นเวลาช้านาน 
          พระมหามนตรี (บุญมา)  นายกองหน้าที่มาตีพม่าที่ค่ายบางกุ้ง  เมื่อพ.ศ.๒๓๑๑ นั้น  เป็นพระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เลื่อนยศเป็นพระยาอนุชิตราชา พระยายมราช เจ้าพระยายมราช และเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราชตามลำดับ  ในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เป็นพระมหาอุปราชทรงพระนามว่่า  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมีฝืมือในการศึกสงครามมาก  นับว่าเป็นวีรบุรุษคนสำคัญยิ่งของชาติไทยผู่หนึ่ง  ที่ได้เป็นกำลังกู้ชาติบ้านเมืองไว้ มีพระเกียรติยศปรากฎอยู่ทั้งในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงเทพ ฯ  พระองค์ท่านประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๒๘๖ ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศฐ์ สวรรคตเมื่อพ.ศ.๒๓๔๖  ในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  พระชนมายุ ๖๐ พรรษา มีพระโอรสธิดา ๔๓ พระองค์  มีราชสกุลสืบต่อมา ๔ สกุล คือ อสุนี ณ อยุธยา, โตษะนีย์ ณ อยุธยา, นีรสิงห์ ณ อยุธยา, ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา 
          เมื่อพ.ศ. ๒๓๑๗ พม่ายกทัพเข้ามาตั้งอยู่ที่ค่ายบางแก้ว ราชบุรี พระเจ้าตากสินมหาราชได้เสด็จกรีฑาทัพเรือไปรบพม่าที่ราชบุรี โดยทางชลมารคผ่านเมืองสมุทรสงครามอีกครั้งหนึ่ง เสด็จโดยเรือพระที่นั่งกราบยาว ๑๓ วา ปากเรือกว้าง ๓ ศอกเศษ พลพาย ๔๐ คน  ไพร่พล ๘๘๖๓ คน ปืนใหญ่น้อย ๒๗๗ กระบอก ถึงเมืองแม่กลองก็หยุดพักพลที่ค่ายแม่กลอง  แล้วเสด็จยกทัพไปหยุดพักเสวยพระกระยาหารที่ค่ายบางกุ้ง  เมื่อวันจันทร์เดือน ๓ แรม ๑๒ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๓๑๗ แล้วเสด็จยกทัพไปในวันน้้น 
          พระเจ้าตากสินมหาราชนั้น นับเป็นมหาวีรบุรุษของชาติไทย ในฐานะที่พระองค์ได้กู้ชาติบ้านเมืองของไทยไว้  เป็นบุญของชาติไทยที่เทพยดาฟ้าดินได้กำหนดให้พระองค์ท่านเสด็จมาอุบัติในชาติไทย  ด้วยพระบุญญาธิการที่ได้สั่งสมมาแต่อดีตชาติ  ได้ส่งเสริมให้พระองค์ท่านรุ่งเรืองขึ้นโดยลำดับ  เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากเมื่อพระชนมายุ ๒๕ ปี ได้เลื่อนเป็นพระยาตากเมื่อพระชนมายุ ๓๐ ปี  ได้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการเมื่อพระชนมายุ ๓๑ ปี  ได้ไปตั้งตัวเป็นใหญ่ที่เมืองจันทบุรีเมื่อพระชนมายุ ๓๒ ปี  และกู้กรุงศรีอยุธยาคืนได้ภายในปีเดียว ปราบดาภิเศกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์เมื่อพระชนมายุ ๓๓ ปี  สมกับคำที่ว่า "กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี"  พระองค์ท่านมีบุญคุณแก่ไทยอย่างล้นเหลือ ยากที่จะหาสิ่งใดตอบแทนได้  นอกจากคำเทิดทูนว่า "เป็นมหาวีรบุรุษผู้กู้ชาติ  เป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่"  
          ค่ายบางกุ้ง เป็นอนุสรณ์สถานที่ชวนให้น้อมใจรำลึกถึงพระเจ้าตากสินมหาราช   เพราะเหตุที่พระองค์ท่านได้เสด็จกรีฑาทัพมาเผด็จศึกพม่าที่ค่ายนี้ เมื่อพ.ศ. ๒๓๑๑  ค่ายทหารแห่งนี้มีเกียรติศักดิ์ทหารไทยในสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชฝากไว้เป็นอนุสรณ์ในชัยชนะที่ภาคภูมิใจแห่งหนึ่ง ควรที่จะเป็นอนุสรณ์สถานที่เตือนใจลูกหลานไทยไปชั่วกาลนาน  

          

(โปรดติดตามตอนตอไป)