วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ค่ายบางกุ้ง (ตอนที่ ๙ สร้างศาลพระเจ้าตากสิน)


สร้างศาลพระเจ้าตากสิน

     วันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๑ มีการพัฒนาค่ายบางกุ้งคร้ังใหญ่ โดยการนำของผู้ว่าราชการจังหวัด  และคณะกรรมการจังหวัด  มีครูอาจารย์ทั้งจังหวัดสมุทรสงครามไปร่วมพัฒนาปรับปรุงค่ายบางกุ้ง จำนวนประมาณ ๑๒๐๐ คน  ครูอาจารย์ช่วยกันถากถาง ขุด ดาย
กันอลม่าน  ผู้ว่าราชการจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด และคณะกรรมการจังหวัด ช่วยกันร้องเพลงปลุกใจดังเจึ้อยแจ้ว  เป็นการทำงานที่ทำด้วยความสนุกสนาน มองดูแล้วน่าปลื้มใจอย่างยิ่ง  
     ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้พูดคุยกับข้าพเจ้าว่า ่"คุณต้องสร้างศาลพระเจ้าตากสินไว้ด้วยนา" ข้าพเจ้า(ศึกษาธิการอำเภออัมพวา) ตอบไปว่า "กำลังคิดอยู่ครับ" ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตอบว่า "ต้องสร้างเลย คุณจะสร้างตรงไหน ไปดูให้เหมาะสม"
     ข้าพเจ้าจึงไปเดินดูรอบบริเวณค่าย เห็นว่าตรงเชิงสะพานปากทางที่จะเข้าค่ายมีต้นโพธิ์ต้นหนึ่งเป็นที่เหมาะ  จึงตกลงสร้างศาลที่ตรงนั้น  และสั่งให้ครูช่างเตรียมการสร้างโดยด่วน ข้าพเจ้าขอเครื่องขยายเสียง เล่าให้ฟังย่อๆถึงประวัติค่ายบางกุ้ง ที่พระเจ้าตากสินมารบพม่ามีชัยชนะ จึงควรสร้างศาลพระเจ้าตากสินไว้เพื่อเคารพบูชา จะได้มีความยึดมั่นกตัญญูกตเวทีต่อวีรบุรษผู้กู้ชาติไทย 

     วันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑ เวลา ๑๐.๓๐ น ได้กระทำพิธียกศาลพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง เครื่องสังเวย เครื่องบัดพลี เครื่องบวงสรวง มีพร้อมสรรพตามตำรา ซึ่งเชื่อว่ายังไม่เคยมีมาก่อนในท้องถิ่นนี้ คือ
    เครื่องบูชา
    ๑. ธูป ๕ ดอก
    ๒. เทียน ๒ เล่ม
   ๓. พวงมาลัยดอกมะลิสด ๑ พวง

    เครื่องสังเวย
    ๑. หัวหมู
    ๒.ไก่
    ๓.บายศรียอดไข่ไก่
    ๔. ขนมต้มแดงขนมต้มขาว
    ๕.ขนมคันหลาว ขนมหูช้าง
    ๖.ขนมกง ขนมเปี๊ยะ
    ๗.เหล้าขาว
    ๘.มะพร้าวอ่อน
    ๙.กล้วยน้ำว่า
    ๑๐.หมากพลู บุหรี่

    เครื่องบัดพลี
    ๑.ใบสัก
    ๒ ใบพุทธรักษา 
    ๓.ใบโพธิ์
    ๔. ใบเงิน
    ๕. ใบทอง
    ๖.ใบขนุน
    ๗.ใบมะยม
    ๘.ใบยอ
    ๙.ใบพลู

    เครื่องบวงสรวง
    ๑. มีดดาบ
    ๒.แหวนพิรอด
    ๓.พัดใบตาล
    ๔.ขนนก
    ๕. ช้าง
    ๖.ม้า
    ๗.ผ้าแพร ๓ สี
    ๘.ไม้มะขาม
    ๙.ไม้พะยอม
     จากการทำศาลพระเจ้าตากสิน ได้พบเสมาศิลาแลงโบสถ์เก่ากองอยู่ที่โคนมะม่วง  จึงขออนุญาตท่านพระครูเยื่อเอามาทำเป็นรั้วเสมารอบศาลไว้ด้วย  เสมานี้แต่โบราณไม่ใช้สำหรับปักเขตโบสถ์อย่างเดียว ยังใช้เป็นเสมากำแพงเมืองด้วย เรียกว่า เสมาเมือง  นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ได้พบเสมาศิลาแลงนี้ เสมานี้เป็นของหายาก ไม่มีในสมัยปัจจุบัน 

    วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๑๑ นายกเหล่าอาสากาชาดจังหวัดสมุทรสงคราม ได้สั่งจ่ายเงินจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาทเพื่อแลกเปลี่ยนเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึก นำไปถวายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๓รอบ วันที่ ๑๒ สิงหาคม  ๒๕๑๑ นับเป็นการส่งเสริมพระเกียรติยศของพระเจ้าตากสิน ขอท่านทั้งหลายได้อนุโมทนาสาธุร่วมกัน 

จบบริบูรณ์ 
     

วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ค่ายบางกุ้ง( ตอนที่ ๘ มอบเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง)


มอบเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง

     พระเจ้าตากสินอุบัติมาเพื่อกอบกู้ประเทศชาติศาสนาปราบปรามปัจจามิตร เสด็จออกศึกเหนือเสือใต้ พระเกียรติยศแผ่ไปทุกทิศานุทิศ เป็นที่คร้ามเกรงแก่ข้าศึกศัตรู  เปรียบประดุจพระยาไกรสรราชสีห์มีฤทธิ์เป็นที่คร้ามเกรงแก่ฝูงหมู่สัตว์จตุบาททั้งปวง  
     ช่วงเวลาที่สร้างเหรียญนี้ บ้านเมืองกำลังมีข้าศึกศัตรูผู้ก่อการร้ายทำลายประเทศชาติ ศาสนา, ทหาร ตำรวจต้องออกปราบปรามอยู่ทั่วไป  ทหารไทยต้องไปรบถึงเวียตนาม และปราบปรามผู้ก่อการร้ายที่ทุ่งช้างจังหวัดน่าน และที่กุยบุรี  ประจวบคีรีขันธ์  จึงเห็นสมควรจะได้มอบเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้งแก่ทหารตำรวจ ผู้ทำการรบอยู่ในอันตรายจะได้นึกถึงพระเจ้าตากสินมหาราช ยอดทหารเสือพระมหากษัตริย์นักรบไทย จะได้เกิดความมั่นใจ กล้าหาญมั่นคง ยอมเสียสละเพื่อประเทศชาติ ศาสนา สืบเลือดบรรพบุรุษต่อไป  จึงได้มีการส่งมอบเหรียญนี้ให้ท่านผู้ใหญ่ส่งไปให้ทหารนักรบ ดังต่อไปนี้  
     ๑. มอบให้ พ.ท. หลวงยุทธสารประสิทธิ์ นายกสมาคมสหายสงคราม เพื่อส่งมอบให้ พ.อ. สนั่น ยุทธสารประสิทธิ์ ผู้บังคับกองพัน "จงอางศึก"  ทหารไทยในเวียตนามใต้ซึ่งเป็นบุตรของท่าน ให้ช่วยแจกจ่ายแก่ทหารไทยในเวียตนามใต้ จำนวน ๑๐๘ เหรียญ 
     ๒. นายธวัชชัย เดชาติวงศ์ ณ อยุูธยา ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม ส่งมอบให้พล.ต สุพงษ์ เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา รองแม่ทัพกองทัพภาคที่ ๓ พิษณุโลก เพื่อแจกจ่ายให้แก่ทหาร "จงอางดอย"  ที่ทำการปราบปรามผู้ก่อการร้ายในจังหวัดน่าน จำนวน ๑๐๘ เหรียญ
     ๓. นายธวัชชัย เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ส่งมอบให้นายถวิล สุนทรศารทูล ปลัดกระทรวงมหาดไทยแจกจ่ายแก่ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ทำการปราบปรามผู้ก่อการร้าย จำนวน ๑๐๘ เหรียญ
     ๔. นายพัฒนพงศ์ ศุกรโยธิน ศึกษาธิการจังหวัด มอบให้นายอภัย จันทวิมล เพื่อแจกจ่ายแก่ข้าราชการที่ทำงานในเขตก่อการร้าย จำนวย ๑๐๘ องค์
     นอกจากน้ันยังได้แจกจ่ายแก่พระอาจารย์ที่มาปลุกเสกอีกองค์ละ ๑๐ เหรียญ  ๑๘ รูป ๑๘๐  เหรียญ แจกจ่ายให้ผู้ร่วมพิธี ๑๓๕ คนๆละ ๑ เหรียญ รวม ๒๗ เหรียญ  รวมเหรียญที่แจกเป็นการกุศลทั้งสิ้น ๗๗๔ เหรียญ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าตากสินมหาราช 




วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

ค่ายบางกุ้ง (ตอนที่ ๗ พุทธานุภาพ)


พุทธานุภาพ 




     เหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุุ้ง จะมีพุทธานุภาพอย่างไรนั้น ขอให้ท่านผู้ใช้นำไปทดลองติดตัวอยู่เสมอ ข้าพเจ้ามั่นใจว่าเหรียญนี้เอาพระรูปพระนามของพระเจ้าตากสินมาใช้  องค์พระเจ้าตากสินก็มีบุญฤทธิ์ เมื่อยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ที่ท่านเสด็จออกศึกสงคราม ไม่เคยปรากฎต้องอาวุธเป็นอันตรายแต่อย่างไรเลย เหรียญนี้คงจะดีทางแคล้วคลาด ดวงฤกษ์ที่วางไว้ให้กาลกิณีตัวศัตรูเป็นวินาศ จะแคล้วคลาดปราศจากศัตรู พระอาจารย์ผู้ทำพิธีปลุกเสกท่านก็ทรงวิทยาคุณทางเมตตามหานิยม เหรียญนี้จะมีคุณภาพเป็นพิเศษทางเมตตามหานิยมด้วย  สมดังพระคาถาว่า  "ชัยยะตุภะวัง สัพพศัตรู วินาสสันติ"
     ด้วยเจตนาการสร้างเหรียญนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ยอดนักรบไทย พระมหาบุรุษผู้กู้ชาติบ้านเมือง เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจประชาชนให้น้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านด้วยความกตัญญูกตเวที   และเพื่อเป็นทีพึ่งแก่ผู้เชื่อถือในพลานุภาพจะคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภัยพิบัติอุปัทวันตราย

     ขอย้ำว่าพระเครื่องหรือเหรียญต่างๆนั้น จะมีพุทธานุภาพก็ต้องประกอบด้วยจิตที่เชื่อมั่น ยึดเหนี่ยวเป็นที่พึ่ง พุทธานุภาพจะปรากฎ  จิตที่เลื่อมใสศรัทธาย่อมชักพาพุทธานุภาพมาสู่ตนทุกเมื่อ 
(โปรดติดตามตอนต่อไป)

วันจันทร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2560

ค่ายบางกุ้ง( ตอนที่ ๖ พิธีพุทธาภิเษก )


พิธีพุทธาภิเษก

     ในวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๑ ตรงกับวันอังคาร วันธงชัย จันทร์เกาะเพฌฆาตฤกษ์ ได้กำหนดฤกษ์ทำพิธีสวดพุทธาภิเษกเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง ที่โบสถ์วัดบางกุ้ง  เพฌฆาตฤกษ์นี้โบราณท่านใช้เพื่อความขลัง  เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ประกอบกิจอันต้องการให้คนเกรงขาม  เป็นการข่มขวัญแสดงอำนาจให้ฝ่ายปัจจามิตรพ่ายแพ้  ใช้ในการหล่อพระทำเครื่องรางของขลังทางไสยศาสตร์ทางไสยศาสตร์ ท่านห้ามใช้ในพิธีมงคลอย่างอื่น  

     เวลา  ๑๑.๐๐ น.ตรง  เริ่มพิธีสวดพระพุทธมนต์ นายพัฒนพงศ์ ศุกรโยธิน  ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสงคราม  จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย  พระสงฆ์ให้ศีลแล้วสวดพระสูตรต่างๆ  เช่น รัตนสูตร  มงคลสูตร  อานาฎิยสูตร  เป็นต้น  

     "เสาโรเมื่อพระรถยศไกร             เล่นสะบ้ามีชัยสโมสร
       เป็นยามดีมีสง่าสถาพร              เล่นพนันผันผ่อนจะมีชัย"
      
      ตำราอัฎกาลกล่าวไว้เช่นนี้ เมื่อเริ่มพิธีสวดพระพุทธมนต์


      เวลา ๑๙.๐๐ น. ขุนนิกรนรารักษ์  อดึตผู้ตรวจราชการ กรมการปกครอง ทำพิธีจุดเทียนชัย  พระสงฆ์สวดจุดเทียนชัย 
       เวลา ๒๐.๐๐ น. นายธวัชชัย เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม  จุดธูปเทียนบูชาพระธรรม พระสงฆ์ ๔ รูป  จากวัดพระเชตุพนฯ สวดพุทธาภิเษก  พระสงฆ์ ๑๔ รูป นั่งบริกรรม  นายสุดใจ กรรณเลขา นายอำเภออัมพวา  จุดเทียนน้ำมนต์ ๑๐๘ เล่ม  นายหอม บูรณสิงห์ เป็นเจ้าพิธีพราหมณ์ นายสุพงษ์ เนตรสว่าง  นั่งปรกฆราวาส  
       
       พระสงฆ์ที่มาทำพิธีสวดพุทธาภิเษกวันนี้ มีพระสงฆ์จากวัดพระเชตุพนฯ ๔ รูป  พระสวดพระพุทธมนต์ ๑๔รูป  ดังจะกล่าวนามไว้ดังนี้  
        ๑. พระเทพสังวรวิมล               วัดเจริญสุขาราม
        ๒. พระครูโพธาภิรมย์               วัดบ้านเลือก ราชบุรี 
        ๓. พระสมุทรโมลี                     วัดเพชรสมุทรวรวิหาร
        ๔. พระครูโกวิทสมุทรคุณ         วัดจุฬามณี
        ๕. พระครุสมุทรวิจาร                วัดประชาโฆษิตาราม
        ๖. พระครูสมุทรวิริยาภรณ์         วัดสวนหลวง
        ๗. พระครูสุวรรณสมุทรคุณ       วัดเทพประสิทธิ์
        ๘. พระครูสมุทรธรรมสุนทร       วัดกาหลง สมุทรสาคร
        ๙. พระครูสมุทรสุนทรธรรมกิจ   วัดแก้วเจริญ  
        ๑๐. พระอาจารย์เยื่อ                   วัดบางกุ้ง
        ๑๑. พระอาจารย์หนู                    วัดภุมรินทร์กุฎีทอง
        ๑๒. พระอาจารย์อ่วม                  วัดเพลง ราชบุรี
        ๑๓. พระอาจารย์แดง                  วัดบางเกาะเทพศักดิ์
        ๑๔. พระราชธรรมาภรณ์             วัดดอนยายหอม  




      การทำพิธีสวดพุทธาภิเษก ได้ปฎิบัติให้ถูกต้องตามประเพณีนิยมแต่โบราณกาลทุกอย่าง มีการตั้งศาลเพียงตาบวงสรวงเทวดา  บอกเล่าพระภูมิเจ้าที่ อัญเชิญดวงพระวิญญาณพระเจ้าตากสินมหาราช มีหัวหมู กล้วย อ้อย มะพร้าวอ่อน ขนมต้มขาวต้มแดง  ธูปเทียนดอกไม้ ฉัตรเงินฉัตรทอง   ภายในโบสถ์อัญเชิญพระพุทธรูปปางมารวิชัย  รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)  พระรูปฤาษี ตั้งลดหลั่นกันตามลำดับ  จัดที่นั่งสวดพุทธาภิเษกไว้ด้านหน้า  ตั้งแท่นพระนั่งปรกไว้เคียงข้างที่พระนั่งบริกรรมอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ตรงกลางตัวแท่นมีเหรียญพระเจ้าตากสินใส่พานไว้ห่อด้วยผ้าขาว  วงสายสิจญ์ มีกระถางธูป ขันน้ำมนต์ซึ่งภายในบรรจุเหรียญทำน้ำมนต์ของสมเด็จกรมพระยาปวเรศวิริยาลงกรณ์ ผู้มีชื่อเสียงทางสร้างพระกริ่งปวเรศร์ไว้ด้วย  เทียนชัยสูงเพียงตา เทียนน้ำมนต์ ๑๐๘ เล่ม ธูปหอม ๑๐๘ ดอก เมื่อพระสวดพุทธาภิเษก พระนั่งปรกและนั่งบริกรรมก็สำรวมจิตเป็นสมาธิ ตามเสียงสวดพุทธาภิเษก เพ่งกระแสจิตเข้าสู่เหรียญที่ปลุกเสกเป็นระยะๆ ไปเป็นจบๆ จนกระทั่งเสร็จพิธี พระเทพสังวรวิมล พระครูโพธาภิรมย์ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ พระสมุทรโมลีดับเทียนชัยด้วยใบพูล ๗ ใบ พระสงฆ์สวดมนต์ดับเทียนชัย สวดชยันโต แล้วถวายเครื่องไทยทาน  พระสงฆ์สวดอนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี  

     

วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ค่ายบางกุ้ง (ตอนที่ ๕ การสร้างเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ่ง)


          การสร้างเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง

           วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๑ ข้าพเจ้าได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อสั่งทำเหรียญ ข้าพเจ้าได้เตรียมเหรียญตัวอย่างแบบต่างๆ และพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าตากสินไปด้วย  ได้จัดธูปเทียนดอกไม้พวงมาลัยไปถวายสักการะดวงวิญญาณของพระเจ้าตากสินมหาราชที่อนุุสาวรีย์วงเวียนใหญ่  อธิษฐานขอความเป็นสิริมงคลความสวัสดีมีชัย   ปรากฎว่ามีนกฝูงใหญ่บินบ่ายหน้าไปทางเมืองสมุทรสงคราม   ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความมั่นใจมากขึ้น 
          กลับสมุทรสงครามในคืนวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๑๑  ข้าพเจ้าได้ฝันว่ามีเด็กชายคนหนึ่งเป็นเด็กโบราณ อายุประมาณ ๕ ขวบ  ได้วิ่งลงไปที่ชายฝั่งแม่น้ำ  ข้าพเจ้าตกใจเกรงว่าเด็กจะจมน้ำจึงวิ่งตามไป  แต่ปรากฎว่าน้ำในแม่น้ำแห้งขอด  เด็กคนน้้นลงไปในแม่น้ำแล้วก็กลับขึ้นบันไดท่าน้ำโดยปลอดภัย  ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาก็นึกว่าฝันนี้เป็นนิมิตดีเกี่ยวกับการสร้างเหรียญพระเจ้าตากสิน  เพราะคล้ายเรื่องในประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าตากสินยังทรงพระเยาว์  เป็นเด็กวัดเล่นซุกซนพระอาจารย์จึงจับผูกล่ามไว้กับบันไดท่าน้ำแล้วก็จำวัดหลับไป  ตื่นขึ้นมาน้ำท่วมบันไดตกใจรีบไปดูก็เห็นบันไดหลุดลอยน้ำขึ้นมา  พระเจ้าตากสินยังผูกติดกับบันไดลอยน้ำอยู่  เพราะบุญญาภินิหารของพระเจ้าตากสินจึงทำให้บันไดหลุดลอยน้ำไม่เป็นอันตราย  ความฝันนี้ทำให้ข้าพเจ้ามั่นใจมากว่า การสร้างเหรียญพระเจ้าตากสินคร้ังนี้จะมีพุทธานุภาพในทางแคล้วคลาดจากอุปัทวันตราย  
          วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๑๑ ข้าพเจ้าเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อติดตามการทำเหรียญ เป็นการเหมาะสมจริงๆ แม่พิมพ์แกะเสร็จแล้ว  แต่ด้านหลังมีช่องว่างเหลืออยู่  ทำให้ไม่งาม  ข้าพเจ้าจึงควักเหรียญรูปหน้าเสือป่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ ให้ช่างแกะตราหน้าเสือในตรงช่องว่างนั้น ด้วยพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นเกิดปีขาล  พระองค์ท่านก็นับว่าเป็นยอดทหารเสือไปรบศึกเหนือเสือใต้ไม่เคยแพ้  เมือเสด็จยกทัพมาตีพม่าที่ล้อมค่ายบางกุ้งก็ได้ชัยชนะ  พงศาวดารกล่าวว่า  "พระเกียรติยศปรากฎขจรขจายไปทั่วทุกทิศดุจพระยาไกรราชสีห์อันมีฤทธิ์เป็นที่คร้ามเกรงแก่หมู่สุัตว์ดุจบาททั้งปวง"
          วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๑๑ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยนายอากาศ มีสมบูรณ์ ได้ออกนิมนต์พระตามวัดต่างๆซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ  หลวงพ่อวัดจุฬามณี วัดประชาโฆษิตาราม วัดสวนหลวง วัดเจริญสุขาราม เป็นต้น  ท่านเจ้าคุณเทพสังวรวิมล วัดเจริญสุขาราม ท่านกล่าวว่า การทำพิธีควรจะมีการทำพิธีบวงสรวงบอกเล่าเชื้อเชิญเทวดาเขาด้วย ให้เขาอวยชัยให้พร  เทวดาพวกนี้เขามีฤทธิ์ ไม่บอกเล่าเขาไม่ดี ท่านพูดเป็นนัยๆว่า เทวดามี ๒ อย่าง เทวดาที่มองเห็นและเทวดาที่มองไม่เห็น  ข้าพเจ้าจึงเกิดความคิดว่าจะเชื้อเชิญให้ครบถ้วนกระบวนความตามคำแนะนำของเจ้าคุณ  
         ข้าพเจ้าไปนมัสการท่านสมภารเยื่อวัดบางกุ้ง ขอยืมสถานที่และเครื่องใช้ ข้าพเจ้าเรียนกับท่านว่า วัดอื่นก็สะดวกแต่ไม่ใช้  ตั้งใจจะใช้โบสถ์วัดบางกุ้งทำพิธี ถือเป็นนิมิตว่าพระเจ้าตากสินได้เคยเสด็จมาปราบศึกทีนี่ และเล่าความฝันที่ว่าได้เห็นเด็กชายโบราณนั้นให้ท่านฟังด้วย  ท่านสมภารเยื่อฟังแล้วชอบใจมาก 
         
          ข้าพเจ้าได้อาศัยบารมีท่านเจ้าคุณสมุทรโมลี ช่วยนิมนต์พระสวดพุทธาภิเษกจากวัดพระเชตุพนฯได้ ๔ รูป นิมนต์พระอาจารย์ผู้ทรงคุณวิทยาคุณได้อีก ๒ รูป คือวัดบ้านเลือก โพธาราม วัดกาหลง สมุทรสาคร  นิมนต์พระวัดปรกได้ ๑๔ รูป พระสวดพุทธาภิเษกได้ ๔ รูป รวม ๑๘ รูป 
           วันที่  ๒๑ เมษายน ๒๕๑๑ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก เวลา  ๐๖.๔๕ น. จันทร์เกาะภูมิปาโลฤกษ์  (ฤกษ์ผู้ครองแผ่นดิน ) อาทิตย์บริวารสถิตราศีเมษ เป็นมหาอุจ  อังคารเดชสถิตราศีเมษเป็นเกษตร  พุธเป็นสิริสถิตราศีเมษ เกตุสถิตราศีเมษ  ทั้ง ๔ ดวงนี้กุมลัคนา พฤหัสบดีสถิตราศีสิงห์ ศุกร์กาลกิณี  บัดนี้เป็นมหาอุจสถิตราศีมีนเป็นวินาส  เสาร์มูละสถิตราศีมีน ราหูสถิตราศีมีน ทั้ง  ๓ ดวงนี้เป็นวินาส หนุนลัคนา มฤตยูสถิตราศีกันย์เป็นอริ  ผู้รู้ทางโหราศาสตร์โปรดพิจารณาดูว่าดวงนี้เด่นเพียงใด บริวาร เดช ศรี กุมลัคนา อยู่ราศีเมษ เป็นบุญฤทธิ์เด่นมากอยู่แล้ว  ศุกร์กาลกิณีตัวปรปักษ์หรือปัจจามิตร  ก็เป็นวินาสเสียแล้ว  จะทำอะไรได้ เสาร์ก็เสื่อมฤทธิ์ ราหูก็หมดอิทธิพลทั้งคู่  ไม่ให้โทษมีแต่จะฟื้นขึ้นมาให้คุณหนุนหลังลัคนา  ภูมิปาโลฤกษ์ก็ให้คุณในทางมั่นคงถาวรร่มเย็นเป็นสุข 
          ดวงฤกษ์นี้คล้ายดวงกรุงเทพฯ  หรือดวงชะตาประเทศไทยที่โหรหลวงได้วางไว้ในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  อาทิตย์กุมลัคนา เป็นมหาอุจ  ตั้งแต่ตั้งกรุงเทพฯ พ.ศ.๒๓๒๕ เป็นต้นมา หมู่อมิตรทำอันตรายกรุงเทพฯมิได้เลย   แม้มนตรีใดใหญ่คับเมืองขึ้นมาก็พินาศทุกราย ท่านผู้อ่านประว้ติศาสตร์พงศาวดารกรุงเทพฯ คงได้สังเกตในเรื่องนี้ 
          ท่านผู้รู้อธิบายว่า  โหรโบราณท่านจะให้ฤกษ์ที่สำคัญๆ  ท่านรอให้ดาวทุกดวงไปชุมนุมกันอยู่ในราศีอุตรกุรุทวีป  (มีน เมษ พฤกษ) ทั่งสิ้น  เช่น ดวงกรุงเทพฯ มีดาวอยู่ในราศีอุตรกุรุทวีปถึง ๖ ดวง  รวมท้ังลัคนาด้วย เป็น ๗ ตำแหน่ง  แม้จะมีดาววินาสก็ถือว่าโอบอุ้มลัคนา  ล้อมหน้าล้อมหลังมีกำลังมาก  แม้ดวงชะตาของบุคคลสำคัญ ถ้ามีดวงดาวอยู่ในราศีอุตรกุรุทวีปมาก ก็มักมีบุญฤทธิ์ เช่น พระเจ้าตากสินมหาราช มี ๔ ดวง สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)  มี ๓ ดวง ๔ ลัคนา
นายควง อภัยวงศ์ มี  ๔ ดวง  ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช มี ๕ ดวง   พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มี ๔ ดวง พระจุลจอมเกล้าฯ มี  ๕ ดวง  

          ดวงฤกษ์เหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้งนี้  มีดวงดาวชุมนุมอยู่ในราศีอุตรกุรุทวีปถึง  ๗ ดวง  รวมท้ังลัคนาด้วยเป็น  ๘ ตำแหน่ง เหมือนดวงกรุงเทพฯ  คือ อาทิตย์เป็นมหาอุจกุมลัคนา  ศุกร์กาลกิณีเป็นวินาส ราหูมนตรีเป็นวินาส ทั้ง  ๔ ดวงนี้ เหมือนกัน ดวงกรุงเทพฯยั่งยืนถาวร ศัตรูทำอันตรายมิได้  มนตรีใดมีอิทธิพลเข้ามาบดบังก็มักพินาศไป  ข้าพเจ้าจึงมั่นใจว่า ดวงเหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้งนี้ จะยั่งยืนถาวร ปราศจากซึ่งภัยพิบัติอุปัทอันตราย ศัตรูหมู่ร้ายก็มักแพ้ภัยพินาศเช่นเดียวกัน  

       
         (โปรดติดตามตอนต่อไป) 

วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ค่ายบางกุ้ง (ตอนที่ ๔ เหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง)







เหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง 



เหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง  




          คณะกรรมการอำนวยการลูกเสืออำเภออัมพวาน้ัน ตั้งขึ้นตาม
พระราชบัญญัติลูกเสืออำเภออัมพวา รวม ๒๗ ท่าน ในการประชุมน้ัน ข้าพเจ้าเสนอกับคณะกรรมการว่า ขอเสนอเรื่องหาเงินสร้างค่ายบางกุ้ง  เสนอว่าจะสร้างเหรียญพระเจ้าตากสินขึ้นสมนาคุณแก่ผู้บริจาคเงินด้วย  ข้าพเจ้าชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ด้วยค่ายบางกุ้งนี้พระเจ้าตากสินเคยยกทัพมาตีพม่าจนได้ชัยชนะเป็นเกียรติประวัติแก่บ้านเมืองของเรา จึงคิดว่าควรสร้างเหรียญพระเจ้าตากสินขึ้นเป็นที่ระลึก เป็นเครื่องสมนาคุณแก่ผู้บริจาคเงิน  และให้มีพิธีพุทธาภิเษกตามแบบโบราณด้วย

          เหรียญพระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้งนี้ ทำเป็นรูปครึ่งองค์ทรงขัตติยาภรณ์ เป็นเหรียญรูปกลมรีขนาดปานกลาง  ด้านหน้าจารึกว่า  "พระเจ้าตากสินเผด็จศึกค่ายบางกุ้ง"  ด้านหลังจารึกว่า "ชัยยะตุภะวัง สัพพะ ศัตรูวินาศสันติ" ซึ่งเป็นพรที่พระเจ้าตากสินพระราชทานแก่แม่ทัพนายกองที่ออกศึก  
(โปรดติดตามตอนต่อไป)











วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2560

ค่ายบางกุ้ง (ตอนที่ ๓ ค่ายลูกเสือบางกุ้ง)



ค่ายลูกเสือบางกุ้ง

          ค่ายบางกุ้งที่สร้างมา ๒๐๐ ปีได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่เป็นค่ายลูกเสือบางกุ้ง  พระเจ้าตากสินมหาราชผู้เป็นยอดทหารเสือ ท่านประสูติปีขาล เมื่อค่ายนี้กลับเป็นค่ายลูกเสือ ก็นับเป็นมงคลนาม เพราะลูกเสือเหล่านี้ก็คือ ลูกทหารเสือ  ซึ่งสืบเนื่องมาจากพระเจ้าตากสินมหาราชนั่นเอง   
          ค่ายลูกเสือบางกุ้ง มีประวัติความเป็นมาอย่างไร สมควรจะเล่าประวัติไว้ให้คนได้ปรากฎ   จะได้มีหลักฐานประวัติที่แน่นอน  จึงขอเล่าประวัติไว้ต้ังแต่แรกสร้าง 
          จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นตั้งแต่ท่านขุนนิกรนรารักษ์(นกแก้ว พัวไพโรจน์)  อดีตผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง ได้มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน ๑๕๐,๐๐๐ บาทให้สร้างตึกเรียนโรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย  ได้กำหนดให้มีพิธีมอบเงินแก่พณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๐ ในวันทำพิธีมอบเงินนี้ได้มีผู้มีเกียรติหลายท่านไปร่วมในพิธี ข้าพเจ้าก็ได้ไปด้วย ก่อนทำพิธีมอบเงิน ท่านขุนนิกรนรารักษ์ และคุณสุดใจ กรรณเลขาได้พบคุณอภัย จันทวิมล ปลัดกระทรวงศึกษา ท่านปลัดกระทรวงศึกษาได้ปรารภว่า จังหวัดอื่นๆ มีค่ายลูกเสือกันหมดแล้ว เหลือแต่จังหวัดสมุทรสงครามยังไม่มีค่ายลูกเสือ  ขอฝากให้ท่านขุนและนายอำเภอช่วยเป็นธุระหาที่ดินให้สักแห่ง   จะได้สร้างค่ายลูกเสือ ท่านขุนนิกรนรารักษ์  และท่านนายอำเภอก็รับปากมา
          วันที่๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๐ ท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการและคณะได้เดินทางมาสมุทรสงครามเพื่อดูสถานที่สร้างค่ายลูกเสือ  ข้าพเจ้าได้พาท่านไปกราบหลวงพ่อบ้านแหลม เยี่ยมโรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย และไปเยี่ยมท่านเจ้าคุณสังวรวิมล ที่วัดเจริญสุขาราม ซึ่งท่านปลัดกระทรวงคุ้นเคยนับถืออยู่   ท่านเจ้าคุณแนะนำว่ ควรจะสร้างที่วัดบางกุ้ง  เพื่อรักษาประวัติศาสตร์ไว้ ท่านปลัดกระทรวงจึงกลับมาดูบริเวณที่ดินวัดบางกุ้งน้อย  ท่านปลัดกระทรวงชอบใจชัยภูมิแห่งนี้มาก  กล่าวว่า ดีที่สุดที่จังหวัดสมุทรสงครามมีอยู่  ท่านตกลงใจให้สร้างค่ายลูกเสือทีบริเวณค่ายบางกุ้งนี้  
          ครั้นถึงวันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๑ คุณพัฒนพงศ์ ศุกรโยธิน ศึกษาธิการจังหวัดสมุทรสงครามได้เรียกประชุมศึกษาธิการอำเภอและครูใหญ่เพื่อดำเนินการเรื่องค่ายลูกเสือบางกุ้งต่อไป  และได้ไปดูสถานที่สร้างค่ายลูกเสือ  








          เมื่อไปที่วัดบางกุ้ง ข้าพเจ้าได้เดินดูรอบๆบริเวณ ก็เกิดความคิดย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ชาติไทยในอดีตว่า พระเจ้าตากสินมหาราชท่านเคยไปตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองจันทบุรี แล้วยกทัพเรือเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาคืนได้   กลับมาตั้งกรุงธนบุรีขึ้นในปีพ.ศ.๒๓๑๑  ในปีนั้นพระเจ้าตากสินมหาราชได้ยกทัพเรือเข้าตีพม่าที่ล้อมค่ายบางกุ้งไว้ได้ชัยชนะ   ระยะเวลาครบ ๒๐๐ ปีพอดี  ค่ายแห่งนี้ก็กลับฟื้นคืนชีพขึ้นเป็นค่ายลูกเสืออีกคร้ังหนึ่ง  ข้าพเจ้าเกิดความคิดว่าควรฟื้นฟูจิตใจคนให้ฟื้นขึ้นให้ระลึกย้อนหลังไปถึงประวัติศาสตร์ด้วยความภาคภูมิใจด้วย อะไรก็ไม่ปลุกใจให้คนรักชาติบ้านเมืองได้เท่าประวัติศาสตรื 
          เมื่อดูสถานที่แล้ว  ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปนมัสการท่านสมภารเยื้อนบนกุฎิ ท่านกล่าวว่าวัดบางกุ้งนี้ตกอับมานานเกือบจะถูกยุบเสียก็หลายครั้ง  ถึงไม่ถูกยุบก็ไม่มีใครรู้จักไม่มีใครสนใจ เมื่อสร้างค่ายลูกเสือขึ้นก็ดีแล้ว คนไปมาจะได้รู้จักวัดบางกุ้งบ้าง  ช่วยเขียนประวัติวัดบางกุ้งให้ด้วยคนเขาจะได้รู้จักวัดบางกุ้งบ้าง  คำพูดของท่านสมภารวัดบางกุ้งสะกิดใจข้าพเจ้าว่า การเขียนประวัติออกเผยแพร่นี้ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูประวัติศาสตร์ ฟื้นฟูจิตใจคนทั้งหลายได้เป็นอย่างดี  ควรจะทำไปพร้อมๆกันกับการสร้างค่ายลูกเสือแห่งนี้ด้วย ข้าพเจ้าจึงได้หาหลักฐานจากหนังสือเก่าๆที่มีอยู่  ได้ทราบเรื่องราวเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก  



          ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๑๑ นั้นเอง จังหวัดสมุทรสงครามได้รับหนังสือจากพณฯ ม.ล.ปิ่น มาลากุล ประธานจัดงานฉลองวันพระราชสมภพครบ  ๒๐๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ว่าทางส่วนกลางอนุมัติงบประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท ให้ทางจังหวัดจัดงานฉลองขึ้นที่วัดอัมพวันเจติยาราม ให้เสนอโครงการจัดงานไปยังกระทรวงศึกษาธิการโดยด่วน  เพื่อจะได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ในหลวงทรงทราบ และบันทึกไว้ว่าควรมอบให้นายเทพ สุนทรศารทูล ศึกษาธิการอำเภออัมพวา เป็นผู้เขียนโครงการจัดงานเสนอจังหวัด  ข้าพเจ้าจึงรับหน้าที่เป็นผู้เขียนโครงการจัดงานฉลองครบ ๒๐๐ ปีแห่งวันพระราชสมภพของพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสนอจังหวัด  ที่จริงก็เป็นโอกาสอันงามของข้าพเจ้าด้วย  ทั้งนี้นอกจากข้าพเจ้าจะเสนอโครงการให้มีการแสดงนาฎศิลป์  บทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒ ทุกเรื่องที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้  ข้าพเจ้ายังเสนอให้มีการแสดงตำนานกลางแจ้งเรื่อง ศึกค่ายบางกุ้ง ไว้ด้วย มีผู้ติงว่าเรื่องค่ายบางก้งไม่เกี่ยวกับรัชกาลที่ ๒  ข้าพเจ้าก็ยืนยันว่าเกี่ยว เพราะเป็นเรื่องที่เกิดในจังหวัดสมุทรสงครามในสมัยที่พระพุทธเลิศหล้านภาลัยประสูติได้ ๑ ปี และยังประทับอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงครามด้วย  ด้วยความที่อยากจะฟื้นฟูประวัติศาสตร์ตอนนี้มาก  ตำนานค่ายบางกุ้งนี้ ลูกเสือสมุทรสงครามเคยเอาไปแสดงรอบกองไฟที่กรุงเทพฯครั้งหนึ่ง เมื่อพ.ศ.๒๔๗๖  แต่ไม่เคยแสดงที่จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อถึงวันแสดงจริง การแสดงตำนานค่ายบางกุ้ง แสดงได้อย่างดี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชอบใจมาก ออกปากชม คนดูก็ชอบอกชอบใจกันมาก เป็นอันว่าการแสดงตำนานค่ายบางกุ้งเพื่อฟื้นฟูจิตใจให้ระลึกถึงเรื่องนี้ ก็ได้ผลสมใจ



(โปรดติดตามตอนต่อไป)